ได้ฤกษ์สร้างอาคารที่ทำการ สทนช. ศูนย์กลางบริหารจัดการน้ำของประเทศ

ได้ฤกษ์สร้างอาคารที่ทำการ สทนช. ศูนย์กลางบริหารจัดการน้ำของประเทศ

ทนช. วางศิลาฤกษ์ เตรียมสร้างอาคารที่ทำการถาวร ที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เผยเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานสูง 16 ชั้น รองรับภารกิจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และใช้เป็นศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ พร้อมสร้างห้องศาสตร์พระราชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 หวังใช้ถ่ายทอดความรู้สู่ภาคประชาชน มั่นใจแล้วเสร็จต้นปี 2564

วันนี้ (9 สิงหาคม 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ณ ถนนติวานนท์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมงานอย่างคับคั่ง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า อาคารที่ทำการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นอาคารสูง 16 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น สร้างบนเนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน ในพื้นที่ราชพัสดุ ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บางส่วนของกรมชลประทาน โดย สทนช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ออกแบบตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และยังออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงานที่เลือกใช้กระจกชนิดที่มีค่าการส่งผ่านความร้อนต่ำ (U-value) เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดเข้าสู่ตัวอาคาร ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าสำหรับระบบปรับอากาศได้เป็นจำนวนมาก อีกทั้งคุณสมบัติพิเศษของกระจกยังไม่ทำให้เกิดการสะท้อนความร้อนไปรบกวนพื้นที่ข้างเคียงอีกด้วย พร้อมกับจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในเดือนสิงหาคม 2562 ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน (540 วัน) โดย สทนช. ได้พิจารณาคัดเลือกโครงการนี้เข้าร่วมโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ของกรมบัญชีกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และเป็นอาคารเขียวตามมาตรฐาน Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction (TREE-NC) ของสถาบันอาคารเขียวไทย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้องค์ประกอบ สถานที่ยั่งยืน ระบบคมนาคมขนส่งสะดวก และมีประสิทธิภาพการใช้น้ำของอาคาร เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรอีกด้วย

สำหรับอาคารแห่งนี้ นอกจากจะใช้เป็นที่อาคารที่ทำการของ สทนช. แล้ว ยังจะใช้เป็นศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ศูนย์กลางการบริหารงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สามารถรองรับการประชุมนานาชาติได้อย่างสง่างาม รวมทั้งยังจะใช้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นศูนย์วิจัยนวัตกรรม และฝึกอบรมด้านทรัพยากรน้ำ ตลอดจนใช้เป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจในกรณีเกิดปัญหาวิกฤตน้ำที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเฉพาะชั้นที่ 14 จะเป็นที่ตั้งของห้องศูนย์บัญชาการ WAR ROOM รวบรวม จัดเก็บ และวิเคราะห์ข้อมูลด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการตัดสินใจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งภายในอาคารยังได้มีการออกแบบห้องศาสตร์พระราชาเพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้เสริมสร้างการเรียนรู้ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำสู่ภาคประชาชน ตลอดจนสืบสาน ต่อยอดพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 อีกด้วย

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก่อตั้งขึ้นปลายปี 2560 โดยใช้สำนักงานชั่วคราวในพื้นที่บางส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ถนนพิษณุโลก คิดเป็นพื้นที่ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ต่อมาเมื่อจำนวนบุคลากรและภารกิจงานขยายขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้พื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาติดต่อราชการหรือขอรับบริการเรื่องต่าง ๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ จึงได้ย้ายมาเช่าอาคารจุฑามาศ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,000 ตารางเมตร (รวมพื้นที่จอดรถ) เป็นที่ทำการ สทนช. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงภารกิจและหน้าที่ของ สทนช. ซึ่งต้องมีการขยายโครงสร้างและภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2562 ที่ขยายภารกิจและบทบาทหน้าที่ของ สทนช. ใหม่ ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สทนช. ถาวร เพื่อรองรับภารกิจในการเป็นศูนย์กลางการบริหารจัดการน้ำของประเทศ

นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีหน่วยงานในส่วนภูมิภาคที่เรียกว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค (สทนช.ภาค) ประจำทั้ง 4 ภูมิภาค ครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักใหม่ 353 ลุ่มน้ำสาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น สทนช.ภาค 1 รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง สทนช.ภาค 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี สทนช.ภาค 3 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และ สทนช.ภาค 4 รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยปัจจุบัน สำนักงานทั้ง 4 ภาค มีที่ทำการชั่วคราว และบุคลากรที่เริ่มดำเนินการตามภารกิจในพื้นที่แล้ว เพื่อร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ และจังหวัด ในการบูรณาการข้อมูล จัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำของลุ่มน้ำ รวมถึงการบริหารจัดการน้ำให้เป็นรูปธรรมต่อไป
.....................................................
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
9 สิงหาคม 2562

Write a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *