เส้นเลือดใหญ่ระหว่างพรมแดน

#เส้นเลือดใหญ่ระหว่างพรมแดน

  เมื่อแสงสีทองเริ่มสะท้อนระยิบระยับจากผิวน้ำ แว่วยินเสียงไก่โก่งคอขันประสานเสียงกัน เหมือนดั่งนักร้องวงออร์เคสต้า พร้อมกับกลิ่นควันไหม้ฟืนที่กำลังลุกโชนใต้หวดนึ่งข้าว ทำให้กลิ่นหอมข้าวนึ่งโชยมาเตะจมูก ชาวประมงพื้นบ้านเริ่มแล่นเรือออกหาปลาในลำน้ำ นั่นคือสัญญาณบ่งบอกให้ทราบถึงวันใหม่แห่งลุ่มน้ำโขงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงผู้คนชาวริมโขงของนานาประเทศได้เริ่มขึ้นอีกแล้ว

แม่น้ำโขงที่ได้รับขนานนามว่า  แม่น้ำดานูบตะวันออก มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัยทางตอนเหนือของทิเบต ไหลผ่านประเทศจีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้แม่น้ำโขงมีชื่อเรียกต่างกันไปตามประเทศที่ผ่าน อาทิ คนจีนเรียกแม่น้ำหลานชางหรือหลานชางเจียง คนเมียนมาและคนลาวเรียกแม่น้ำของ เป็นต้น

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่ไหลเลี้ยวเลาะไปตามไหล่เขาที่มีตลิ่งสูงชันทั้งสองข้าง ไหลจากเหนือลงสู่ใต้ตลอดทั้งปี ระดับน้ำในฤดูฝนกับฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันมาก มีเกาะแก่งน้อยใหญ่จำนวนมาก ถือเป็นลุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง เต็มไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด โดยเฉพาะปลาบึกที่เป็นสัตว์น้ำขนาดใหญ่และพบได้เฉพาะในแม่น้ำแห่งนี้

    ณ ดินแดนมหานทีที่กว้างใหญ่และทอดยาวเป็นพันกิโลเมตรแห่งนี้ ยังถูกเชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของพญานาค ทำให้มีตำนานและประเพณีต่างๆ ของชาวลุ่มน้ำโขงมากมาย

             แต่ด้วยเหตุที่แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำมากและไหลจากเหนือสู่ใต้ตลอดทั้งปี ทำให้มีการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นในแม่น้ำโขงมากมาย การพัฒนาเหล่านั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เป็นอยู่ ย่อมทำให้เกิดผลกระทบในทางลบบ้างอย่างแน่นอน อีกทั้งสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและนับจะทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศลุ่มน้ำ ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำบางชนิดจึงได้สูญหายไปจากลำน้ำนี้ ตลอดจนวิถีชีวิตของประชาชนริมฝั่งโขงก็ได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงการขึ้นลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว

ถึงแม้ก่อนที่จะดำเนินการพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำต้องมีขบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้ากับประเทศสมาชิกในลุ่มน้ำโขง เพื่อนำไปสู่แผนการป้องกันและลดผลกระทบข้ามพรมแดน ตามข้อตกลงของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็ตาม ผลกระทบข้ามพรมแดนทั้งในเรื่องระบบนิเวศและการดำรงชีวิตของชาวริมโขงก็ยังปรากฏให้เห็นตามข้อเรียกร้องของชาวริมฝั่งโขงของไทยอยู่เนืองๆ

สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะตัวแทนประเทศไทยเป็นคณะกรรมการร่วมในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและหน่วยงานที่บูรณาการการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศ จึงได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์และการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของพื้นที่ริมน้ำโขงอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่แนวทางการบรรเทาปัญหาที่มีต่อประชาชนชาวริมฝั่งโขง 8 จังหวัดของไทย โดยมีประเด็นหลักๆ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเพื่อความมั่นคง การบรรเทาปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคม

   

    การพัฒนาเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นการผลิตพลังงานสะอาดที่ชาวโลกกำลังตื่นตัวและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมายก็ตาม ผลกระทบทางลบย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่อย่าลืมไปว่าสิ่งที่ผ่านย่อมเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่จะต้องนำมาใช้ในการวางแผนพิจารณาการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกันทั้ง 4 ประเทศ เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์และความสุขจากแม่น้ำสายเดียวกันนี้ ให้เหมือนเส้นโลหิตเดียวกันที่สามารถหล่อเลี้ยงร่างกายได้ทุกคน ดั่งคำขวัญ “One Mekong One Spirit” ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศเป็นจริง

ตรัยวาริน

#รักษ์ธรรมชาติธรรมชาติรักเรา

บุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

บุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

นางสาวศรีวรรณ  จันทร์เชื้อ   ตำแหน่ง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ

กลุ่มแผนงาน สำนักงานเลขาธิการ

ได้รับการคัดเลือกเป็นบุคลากรด้านคุณธรรม จริยธรรม สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

คติพจน์ :  ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ ไม่เลือกปฏิบัติ และตรวจสอบได้

ปณิธานความดีที่จะปฏิบัติต่อไป  : ปฏิบัติหน้าที่ราชการดัวยความตั้งใจ ใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่า และให้บริการผู้มาติดต่อด้วยไมตรีจิตที่ดี โปร่งใส เป็นธรรม

 

สทนช. เข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตร วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่9) วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565

วันนี้ (5 ธันวาคม 2565) เวลา 7.30 น. นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ สทนช. เข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตรพระสงฆ์และสามเณร จำนวน 189 รูป และพิธีวางพานพุ่มและถวายบังคมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่9) วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565 โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา เป็นประธานในพิธีฯ ณ บริเวณพิธีท้องสนามหลวง

 

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ จัดพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นายสุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ จัดพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน 2565 ณ อาคารจุฑามาศ  สำนักงานทรัพยากรนำ้แห่งชาติ

 

 

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงนามถวายพระพร พร้อมทั้งถวายแจกันดอกไม้นื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565

เมื่อวันที่ 1  มกราคม 2565 นายสุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นนำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงนามถวายพระพร พร้อมทั้งถวายแจกันดอกไม้ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช 2565 ณ ศาลาหทัยสมาคม

 

สทนช.เข้าร่วม พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายบังคม พิธีวางพานพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564  นายสุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  เข้าร่วม พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีถวายบังคม พิธีวางพานพุ่มดอกไม้ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2564  ณ ท้องสนามหลวง และจัดกิจกรรมจิตอาสา “รู้รักสามัคคี รักษ์สิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิต” ณ อาคารจุฑมาศ  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

สทนช.จัดพิธีวันคล้ายวันสถาปนา สทนช.ครบรอบ 4 ปี

วันนี้ (25 ตุลาคม 2564) เวลา 08.30 น. ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการ สทนช. คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ร่วมพิธีวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครบรอบ 4 ปี ณ อาคารจุฑามาศ สทนช. ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ โดยร่วมสักการะพระพุทธรูปประจำ สทนช. “พระพุทธนาคา ธาราธิบดี” ต่อจากนั้นประกอบพิธีไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำอาคารจุฑามาศ โดยถวายเครื่องสักการะท้าวเทพมหาพรหมและสักการะพระบรมรูป ร.5 และร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป เพื่อเป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรของ สทนช.

โหลดภาพเพิ่มเติม….คลิ๊ก

 

สทนช.ร่วมคณะนายกฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม จ.สิงห์บุรี

     สทนช.ร่วมคณะนายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.สิงห์บุรี พร้อมมอบ สทนช.เร่งรัดดำเนินโครงการตามแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้กับประชาชนโดยเร็ว
วันนี้ (20 ต.ค.64) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยในโอกาสร่วมคณะนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัย และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยชุมชนบางแคใน จ.สิงห์บุรี ว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำในภาพรวมของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 0.39 – 2.32 ม.และเขื่อนเจ้าพระยา (C.13) มีอัตราการะบายที่ 2,673 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แต่ในช่วงวันที่ 23 – 30 ต.ค.นี้ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจาก จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี จึงมีการปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ในเกณฑ์ 2,700 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 0.20 – 0.40 เมตร ซึ่งล่าสุดกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ หรือ กอนช.ได้ออกประกาศฉบับที่ 24 แจ้งเตือน 9 จังหวัดริมแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อให้หน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบแนวคันกั้นน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม รวมถึงปรับแผนบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์อุทกภัยใน จ.สิงห์บุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย ทำให้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้มีน้ำท่วมทั้งหมด 14,923 ไร่ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ค่ายบางระจัน อ.ท่าช้าง อ.บางระจัน อ.พรหมบุรี อ.เมืองสิงห์บุรี และ อ.อินทร์บุรี ซึ่งหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสิงห์บุรี กรมทางหลวงชนบท หน่วยทหารในพื้นที่ได้เร่งเข้าสํารวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชน ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำหลากลงสู่ทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น โดยกรมชลประทานนำเครื่องผลักดันน้ำ ไปติดตั้งจำนวน 2 แห่งบริเวณคลองพังทลาย ต.บางตะเคียน เพิ่มเติม ที่ ปตร.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง และติดตั้งเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรือ ที่ตำบลบางเลน อำเภอสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี บริเวณ สะพานข้ามแม่น้ำวัดไผ่โรงวัวอีก 20 เครื่องด้วยเช่นกัน
“นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องวางแผนแก้ไขปัญหาด้านน้ำในระยะยาว ควบคู่กับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนรัฐบาลภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี โดยในระยะเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติ บริหารจัดการน้ำหลากเพื่อลดความเดือนร้อนของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม รวมถึงวางแผนเก็บน้ำหลากไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชในฤดูน้ำหลากให้เหมาะสมสอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลาก ต้องเร่งจัดทำรายละเอียดการจ่ายค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหายอย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีพได้ไม่เดือดร้อน ทั้งนี้ สทนช. ต้องเสนอ (ร่าง) หลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย ต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช .) เพื่อให้ความเห็นชอบ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณา ก่อนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติต่อไป และท้ายที่สุด คือ ให้ สทนช. บูรณาการกระทรวงมหาดไทยตรวจสอบความแข็งแรงมั่นคงของพนังกั้นน้ำเจ้าพระยา จัดทำแผนบำรุงรักษา และซ่อมแซมปรับปรุงบริเวณจุดเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินโครงการตามแผนงานบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”ดร.สุรสีห์ กล่าว
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
20 ตุลาคม 2564

โหลดภาพเพิ่มเติม….คลิ๊ก

 สทนช.จัดพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นายสุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเป็นประธาน  จัดพิธีวางพวงมาลา เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราช บรมนาถบพิตร.

ณ อาคารจุฑามาศ ชั้น 10  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

 

 

สทนช.เร่งทบทวนผลิตภาพการใช้น้ำภายใต้แผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี

วันนี้ ( 18 ต.ค. 64 ) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการจัดทำข้อมูลผลิตภาพการใช้น้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ซึ่ง สทนช.ได้มอบหมายใหมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อรวบรวมและจัดทำแนวทางการวิเคราะห์ผลิตภาพการใช้น้ำภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค ในปัจจุบันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) เพื่อประเมินผลิตภาพการใช้น้ำของภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค ในระดับประเทศ จังหวัด และลุ่มน้ำ 3) เพื่อนำผลวิเคราะห์ผลิตการใช้น้ำภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค ในระดับจังหวัด และลุ่มน้ำ นำไปสู่ข้อเสนอแนะที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ ซึ่งนอกจากจะมีการนำเสนอรายละเอียดของการดำเนินโครงการให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบแล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการศึกษาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การเร่งขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580)